Thatcher of Kesteven, Margaret Hilda Thatcher, Baroness (1925–2013)

มาร์กาเร็ต ฮิลดาแทตเชอร์ บารอนเนส แทตเชอร์แห่งเคสตีเวน (พ.ศ. ๒๔๖๘–๒๕๕๖)

 มาร์กาเร็ต ฮิลดา แทตเชอร์ บารอนเนสแทตเชอร์แห่งเคสตีเวน เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๙–๑๙๙๐ และเป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุโรปด้วย เธอเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ในช่วง ค.ศ. ๑๙๗๕–๑๙๙๐ ที่สามารถนำพรรคสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกันถึง ๓ ครั้ง แทตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในรอบ ๑๕๐ กว่าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่สิ้นสมัยของรอเบิร์ต แบงส์ เจงกินสัน เอิร์ลแห่งลิเวอร์พูล (Robert Banks Jenkinson, Earl of Liverpool)* ใน ค.ศ. ๑๘๒๗ ตลอดช่วงของการบริหารประเทศ เธอดำเนินนโยบายที่ต่อมาเรียกกันว่า “ลัทธิแทตเชอร์” (Thatcherism) ซึ่งได้แก่ การตัดทอนค่าใช้จ่ายของรัฐ การลดภาษีทางตรงและเพิ่มภาษีทางอ้อม การสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองทางสังคมและเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมายและการรักษาระเบียบของสังคมอย่างจริงจัง การส่งเสริมการค้าเสรี การโอนกิจการของรัฐให้เอกชนรับไปดำเนินการ การทอนอำนาจของสหภาพแรงงาน (Trade Union)* และยังรวมไปถึงการต่อต้านการบงการของประชาคมยุโรป (European Community–EC)* อีกด้วย การดำเนินนโยบายดังกล่าวควบคู่ไปกับอุปนิสัยที่ยึดมั่น ไม่ผ่อนปรน ทำให้เธอมีทั้งผู้ชื่นชมและผู้ที่โกรธแค้นเกลียดชัง ในที่สุด รูปแบบการบริหารที่ไม่ยืดหยุ่นต่อกระแสรอบข้างของแทตเชอร์ก็ทำให้พรรคอนุรักษนิยมเสียคะแนนนิยมจากประชาชนแทตเชอร์จึงถูกสมาชิกพรรคกดดันให้ลาออกจากการเป็นผู้นำพรรคที่เป็นมา ๑๕ ปีเศษ

 แทตเชอร์เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ ที่เมืองแกรนทัม (Grantham) เมืองเล็ก ๆ ซึ่งผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับรถไฟในมณฑลลิงคอล์นเชียร์ (Lincolnshire) เป็นบุตรีของอัลเฟรด รอเบิตส์ (Alfred Roberts) เจ้าของร้านชำ ๒ แห่ง ซึ่งพื้นเพเดิมมาจากมณฑลนอร์แทมป์ตันเชียร์ (Northamptonshire) เขาเป็นสมาชิกสภาเทศบาลของเมืองแกรนทัมเป็นเวลา ๒๕ ปี และใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ก็เป็นนายกเทศบาลของเมืองแกรนทัม มารดาคือเบียทริซ เอเทล สตีเฟนสัน (Beatrice Ethel Stephenson) แทตเชอร์และมิวเรียล (Muriel) พี่สาวมีที่พักอยู่ชั้นบนของร้านชำใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทางรถไฟ เธอเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ยึดมั่นในคุณค่าของครอบครัว ค่านิยมและวัฒนธรรมวิกตอเรีย (Victorian Culture)* ที่เน้นการพึ่งตนเองและการมัธยัสถ์อดออม ครอบครัวนี้นับถือนิกายเมทอดิสต์ (Methodism) อย่างเคร่งครัด เธอไปโบสถ์อาทิตย์ละ ๓ ครั้ง แทตเชอร์เรียนเปียโนและร่วมอยู่ในคณะนักร้องของโบสถ์ตอนช่วงอายุ ๕–๑๕ ปี ในด้านการเล่าเรียนนั้น เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนประถมที่ตั้งอยู่บนถนนฮันติงทาวเวอร์ (Huntingtower Road PrimarySchool)และได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนหญิงเคสตีเวนและแกรนทัม (Kesteven and Grantham Girls’ School) ซึ่งเป็นแกรมมาร์สกูลหรือโรงเรียนมัธยม

 หลังเรียนจบใน ค.ศ. ๑๙๔๓ แทตเชอร์ได้เข้าเรียนวิชาเคมีที่วิทยาลัยซัมเมอร์วิลล์ (Somerville College) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) และได้เป็นประธานสมาคมอนุรักษนิยมของมหาวิทยาลัย (University Conservative Association) หลังสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เธอได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัยทางเคมีที่เมืองโคลเชสเตอร์ (Colchester) ในมณฑลเอสเซกซ์ (Essex) และต่อมามีโอกาสพบปะกับเดนิส แทตเชอร์ (Denis Thatcher) นักธุรกิจพ่อม่ายฐานะดีในเขตนอร์ทเคนต์ (North Kent) ทั้งคู่สมรสกันเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ [หลังสมรส เธอเปลี่ยนไปนับถือนิกายอังกฤษ (Church of England) จนตลอดชีวิต] การได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสามีทำให้เธอสามารถเข้าเรียนที่สำนักกฎหมาย และในที่สุดก็เปลี่ยนมาประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายโดยเชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ทั้งคู่มีลูกแฝดชายหญิง คือ มาร์ก (Mark) และแคโรล (Carol)

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ และ ค.ศ. ๑๙๕๑ แทตเชอร์ลองลงสนามการเมืองโดยการสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคอนุรักษนิยมที่เมืองดาร์ตฟอร์ด (Dartford) มณฑลเคนต์ (Kent) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๕๙ จึงได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตฟินช์ลีย์ (Finchley) ซึ่งเป็นเขตฐานเสียงของพรรคอนุรักษนิยมที่อยู่ชานกรุงลอนดอนไปทางเหนือและเป็นผู้แทนของเขตนี้ไปจนลาออกจากสภาสามัญใน ค.ศ. ๑๙๙๒ เมื่อแรกเข้าสภาในวัย ๓๔ ปี แทตเชอร์เป็นสตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาสามัญ ไม่นานต่อมา เธอได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเงินบำนาญสงเคราะห์และการประกันแห่งชาติ (Ministry of Pensions and National Insurance) ในสมัยรัฐบาลแฮโรลด์ แมกมิลแลน (Harold Macmillan)* และเซอร์อะเล็ก ดักลาส-ฮูม (Alec Douglas-Home)* และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ สมัยรัฐบาลเอดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath)* ขณะดำรงตำแหน่งหลังนี้ เธอส่งเสริมด้านวิชาการในโรงเรียน แต่ต้องการตัดค่าใช้จ่ายของรัฐลงด้วยเธอจึงให้ยกเลิกการแจกนมฟรีให้แก่เด็กนักเรียนช่วงอายุ ๗–๑๑ ปี โดยให้เป็นภาระของโรงเรียนเองนโยบายนี้ก่อเสียงคัดค้านอย่างอื้ออึงทั้งจากพรรคแรงงาน (Labour Party)* และหนังสือพิมพ์ จนเกิดวลีเรียกเธอว่า มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ผู้ขโมยนมเด็ก (Margaret Thatcher, Milk Snatcher)

 แทตเชอร์ไม่เคยแสดงท่าทีต่อต้านนโยบายของเอดเวิร์ด ฮีท หัวหน้าพรรคเลย จนเมื่อฮีทต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๗๔ เนื่องจากการนำพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในปีนั้นซึ่งอังกฤษกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำมันอย่างรุนแรงสืบเนื่องมาจากกลุ่มประเทศอาหรับผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of Arab Petroleum Exporting Countries–OAPEC) งดจำหน่ายน้ำมันตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ ให้ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษแคนาดา ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ที่ประเทศอาหรับเห็นว่าสนับสนุนอิสราเอล และการเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างของสหภาพแรงงานต่าง ๆ แทตเชอร์สนับสนุนเซอร์คีท โจเซฟ (Keith Joseph) สมาชิกพรรคคนสำคัญที่ผู้คนคาดว่าจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทนฮีทด้วยการวิจารณ์ฮีทที่หันไปใช้นโยบายแทรกแซงทางเศรษฐกิจแทนที่จะปล่อยตามกลไกเสรีและการสนับสนุนระบบรัฐสวัสดิการซึ่งไม่ใช่แนวทางของพรรคอนุรักษนิยม แต่ในที่สุด เซอร์โจเซฟปฏิเสธที่จะแข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับฮีทใน ค.ศ. ๑๙๗๕ ด้วยเหตุผลส่วนตัวและการพลั้งปากกล่าวต่อสาธารณชนเกี่ยวกับความต้องการให้คนยากจนลดการมีบุตร เพื่อจะได้ไม่สร้างประชากรที่ไม่มีคุณภาพให้สังคม

 เมื่อเป็นเช่นนี้ แทตเชอร์จึงแสดงความจำนงแทนซึ่งในตอนแรกเธอได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคเพียงเล็กน้อย แต่แล้วเธอกลับมีชัยชนะเหนือฮีทในการลงคะแนนครั้งแรกของสมาชิกพรรคอันเนื่องมาจากการที่สมาชิกจำนวนไม่น้อยเบื่อหน่ายและต้องการให้ฮีทพ้นจากตำแหน่ง ฮีทจึงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในการลงคะแนนรอบที่ ๒ แทตเชอร์ก็มีชัยเหนือวิลเลียม ไวต์ลอว์ (William Whitelaw) รองหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นบุคคลที่ฮีทอยากให้สืบตำแหน่งต่อจากเขา เป็นที่สังเกตว่าสมาชิกพรรคออกเสียงตามการอิงกลุ่มซ้ายขวาในพรรคภูมิภาคที่เป็นภูมิหลังของผู้สมัคร ประสบการณ์ และการศึกษา แทตเชอร์นั้นได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากสมาชิกฝ่ายขวา หรือสมาชิกที่มาจากภาคใต้ของประเทศและจากสมาชิกที่ไม่เคยเรียนในโรงเรียนประจำของเอกชน (public school) หรือไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่เรียกว่า “ออกซ์บริดจ์” (Oxbridge)ได้แก่ออกซฟอร์ด(Oxford)และเคมบริดจ์ (Cambridge) แทตเชอร์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๕ เธอยังคงให้ไวต์ลอว์เป็นรองหัวหน้าพรรค ส่วนฮีทซึ่งไม่เคยเห็นความสำคัญของแทตเชอร์ยังคงขุ่นเคืองที่แทตเชอร์เข้าท้าชิงตำแหน่งกับเขา ฮีทจึงแสดงอาการไม่ไยดีต่อแทตเชอร์และแสดงบทบาทเป็นสมาชิกแถวหลังในสภาที่คอยวิพากษ์วิจารณ์แทตเชอร์นับแต่นั้นมา ความเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่นของแทตเชอร์มีส่วนทำให้หนังสือพิมพ์ Red Star ของสหภาพโซเวียตให้ฉายาเธอใน ค.ศ. ๑๙๗๖ ว่า “สตรีเหล็ก” (Iron Lady) อันเป็นนัยเปรียบกับออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* ผู้มีฉายาว่า อัครมหาเสนาบดีเหล็ก (Iron Chancellor)

 เมื่อรัฐบาลพรรคแรงงานที่มีเจมส์ คัลลาแฮน (James Callaghan)* เป็นผู้นำเผชิญปัญหาการนัดหยุดงานเป็นระยะ ๆ ในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๗๘–๑๙๗๙ ที่เรียกกันว่า “ฤดูหนาวที่คับแค้นใจ” (Winter of Discontent) ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องพ้นหน้าที่ใน ค.ศ. ๑๙๗๙ จากปัญหาแรงกดดันจากสหภาพแรงงานเช่นเดียวกับที่รัฐบาลฮีทเคยประสบใน ค.ศ. ๑๙๗๓ รัฐบาลคัลลาแฮนพ่ายแพ้ในการลงมติไม่ไว้วางใจทำให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ซึ่งจัดขึ้นในปีนั้นผลคือพรรคอนุรักษนิยมได้เสียงข้างมากในสภาสามัญเป็นจำนวน ๔๔ ที่นั่ง แทตเชอร์จึงได้ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ เธอนำความคิดจากศูนย์ศึกษานโยบาย (Center for Policy Studies) ที่เธอกับเซอร์คีท โจเซฟช่วยกันจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๔ เพื่อวางนโยบายด้านตลาดเสรีมาปฏิบัติ แทตเชอร์อยู่ในกลุ่มฝ่ายขวาของพรรคอนุรักษนิยมที่เพิ่งก่อตัวขึ้นซึ่งเรียกขานกันว่า “กลุ่มดรายส์” (Dries) ตรงกันข้ามกับพวกทอรีเสรีนิยมแบบเก่าที่เธอเรียกว่า “กลุ่มเว็ตส์” (Wets) ซึ่งต่อต้านนโยบายการเงินที่เรียกว่า แนวคิดในเรื่องปริมาณเงิน (monetarism) และการลดค่าใช้จ่ายสาธารณะของเธอ เธอสนับสนุนให้ปัจเจกบุคคลลดการพึ่งพิงรัฐและช่วยเหลือตนเองสนับสนุนการยุติการที่รัฐเข้าแทรกแซงกลไกเศรษฐกิจมากเกินไป ลดค่าใช้จ่ายสาธารณะซึ่งจะทำให้ลดภาษีเงินได้บุคคลลงแต่ไปเพิ่มภาษีทางอ้อม เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อ แต่ความพยายามลดทอนรายจ่ายของรัฐ เช่น การตัดเงินสนับสนุนด้านการศึกษาทำให้เธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดคนแรกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ที่ไม่ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยที่เธอเป็นศิษย์เก่า และการตัดงบประมาณด้านเงินสวัสดิการของรัฐก็ทำให้ผู้มีรายได้น้อยโกรธแค้นเธออย่างฝังใจไปตลอดในส่วนที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานนั้น แทตเชอร์ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมตกที่นั่งเดียวกับฮีทและคัลลาแฮน ประโยคของเธอที่ก้องอยู่ในหูผู้คนเมื่อเธอเผชิญการท้าทายจากสหภาพแรงงานคือ “ใครว่าการอังกฤษ” (Who governs Britain?)

 ในช่วงปีแรกของรัฐบาลแทตเชอร์ มีการผ่านกฎหมายเพื่อให้ผู้เช่าที่ในเขตเทศบาลสามารถซื้อบ้านพักอาศัยและออกกฎหมายที่ทอนอำนาจสหภาพแรงงานลง ในตอนแรกมีเสียงวิพากษ์นโยบายนี้มาก แต่ต่อมาได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีทำให้แทตเชอร์ได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น แต่เมื่อถึง ค.ศ. ๑๙๘๑ อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นนับแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ พุ่งขึ้นสูงมาก จนเกือบเป็น ๓ เท่าของช่วงวาระ รัฐบาล ๒ ชุดก่อน คือ จาก ๑,๑๐๐,๐๐๐ คน เป็น ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน กล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๓๐ ที่จำนวนคนว่างงานพุ่งขึ้นสูงเกิน ๓ ล้านคน (ถึง ๓,๔๐๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๘๔) นอกจากนี้ รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบภาษี กล่าวคือ ลดภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยลงร้อยละ ๒๕ พวกที่เสียอัตราสูงก็ได้รับการลดจากร้อยละ ๘๓ เหลือร้อยละ ๔๐ แต่ไปเพิ่มอัตราภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ ๘ เป็นร้อยละ ๑๕ จากการสำรวจคะแนนนิยมของประชาชน แทตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่มีคะแนนนิยมต่ำสุด อย่างไรก็ดี สถานการณ์ก็ดีขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีต่อมาเมื่อเธอนำประเทศให้ได้ชัยชนะเหนืออาร์เจนตินาในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falkland Islands War)* ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษที่ยังเหลืออยู่ในจำนวนไม่กี่แห่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๒ ในปีเดียวกันนั้น มกุฎราชกุมารอังกฤษก็มีพระราชโอรสพระองค์แรกซึ่งพระราชทานนามว่า วิลเลียม (William) อันเข้าใจได้ว่าอาจมีนัยถึงพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) บรรพกษัตริย์ของอังกฤษ

 ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๘๓ พรรคอนุรักษนิยมมีชัยชนะอีกครั้ง เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านรวมตัวกันไม่ติด ทั้งพรรคแรงงานก็มีไมเคิล ฟุต (Michael Foot) เป็นผู้นำที่อ่อนแอ เขาเสนอนโยบายแบบพรรคฝ่ายซ้ายและได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ ๒๘ นับเป็นการได้คะแนนน้อยที่สุดของพรรคแรงงานตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เป็นต้นมา เมื่อได้รับชัยชนะ แทตเชอร์จึงมีความมั่นใจในการสานต่อนโยบายที่วางไว้และพร้อมเผชิญหน้ากับข้อเรียกร้องและการประท้วงของกรรมกรเหมืองถ่านหินที่กำลังเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลมากขึ้น อาร์เทอร์ สคาร์กิลล์ (Arthur Scargill) ผู้นำกรรมกรเหมืองที่มุ่งการปะทะประกาศให้กรรมกรเหมืองหยุดงานในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๔ เพื่อประท้วงการที่รัฐปิดปากเหมืองและยุติการจ้าง รัฐบาลแทตเชอร์เตรียมตั้งรับไว้ก่อนแล้วด้วยการเก็บตุนถ่านหินจำนวนมากและจากการที่กรรมกรเหมืองในมณฑลนอตติงแฮมเชียร์ (Nottinghamshire) ปฏิเสธที่จะร่วมนัดหยุดงาน ในที่สุดปีต่อมา คนงานเหมืองก็ต้องยอมกลับเข้าทำงานอย่างไม่มีเงื่อนไข ชัยชนะจึงเป็นของแทตเชอร์

 อย่างไรก็ดี ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระที่ ๒ นั้น เกิดวิกฤตการณ์ในคณะรัฐบาลขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๘๖ เนื่องมาจากการที่ไมเคิล เฮเซลไทน์ (Michael Heseltine) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประท้วงนโยบายของแทตเชอร์กรณีเวสต์แลนด์ (Westland Affair) และแสดงทัศนะที่ไม่ตรงกันในการประมูลงานของบริษัทเวสต์แลนด์ เฮลิคอปเตอรส์ (Westland Helicopters) ที่ผลิตเฮลิคอปเตอร์จนประกาศลาออกและกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของแทตเชอร์ในพรรค แต่สถานการณ์ก็ดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๗ แทตเชอร์จึงสามารถนำพรรคสู่ชัยชนะเป็นครั้งที่ ๓ ติดต่อกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทำให้เมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๐ แทตเชอร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของอังกฤษ

 ในสมัยที่ ๓ ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของแทตเชอร์ในเดือนเมษายนค.ศ. ๑๙๘๙รัฐบาลเสนอการเรียกเก็บภาษีชุมชน (Community Charge) หรือที่เรียกว่าภาษีรายหัว (poll tax) ซึ่งชาวอังกฤษทุกคนจะถูกเรียกเก็บในจำนวนเท่ากันแทนภาษีทรัพย์สินของท้องถิ่น ภาษีนี้ใช้บังคับในสกอตแลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ และมีผลในอังกฤษและเวลส์ในปีต่อมา นับว่าเป็นการดำเนินการที่ผู้คนโจมตีมากที่สุดในช่วงที่เธอเป็นนายกรัฐมนตรีมีการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอนเมื่อ วันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ การเดินขบวนในเขตจัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) ลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การจลาจลภาษีรายหัว” (Poll Tax Riots) ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ๑๑๓ คน และ ๓๔๐ คน ถูกจับกุม [ภาษีรายหัวนี้ถูกยกเลิกในสมัยรัฐบาล จอห์น เมเจอร์ (John Major)* ผู้สืบตำแหน่งต่อจากแทตเชอร์] ความไม่พอใจรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นเมื่อต่อมารัฐบาลพยายามปฏิรูประบบการให้บริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลพรรคแรงงานอีก แทตเชอร์สนับสนุนการดำเนินนโยบายทั้ง ๒ ประการ ทั้ง ๆ ที่ความไม่พอใจรัฐบาลกำลังโหมกระพือ

 นอกจากนี้ แทตเชอร์ยังคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวต่อการนำอังกฤษเข้าร่วมในกลไกการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน (Exchange Rate Mechanism–ERM) ของระบบการเงินยุโรป (European Monetary System) นโยบายต่อต้านระบบการเงินยุโรปนี้ทำให้เธอขัดแย้งกับนิเกล ลอว์สัน (Nigel Lawson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเซอร์เจฟฟรีย์ ฮาว (Geoffrey Howe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ฮาวได้ถูกเปลี่ยนให้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ลอว์สันก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อถึงเวลานั้นเศรษฐกิจก็กลับมาถดถอยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลและในตัวแทตเชอร์ลดน้อยลงไปอีกเมื่อฮาวลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๐ ก็เป็นการปลุกกระแสการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคซึ่งมีเฮเซลไทน์เป็นตัวตั้งตัวตี แม้ในการออกเสียงรอบแรกของสมาชิกพรรค แทตเชอร์ชนะเฮเซลไทน์ด้วยคะแนน ๒๐๔ ต่อ ๑๕๒ เสียง และไม่ออกเสียง ๑๖ คน ขาดไป ๔ เสียง จึงจะถือว่าได้เสียงข้างมาก แต่ตามธรรมนูญของพรรคคะแนนเสียงที่เธอชนะไม่มากพอที่จะให้ถือว่าเป็นการชนะเด็ดขาดจึงต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่ ๒ และ ๓ เพื่อตัดสินชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้นำพรรคต่อไป เมื่อสมาชิกพรรคหลายคนคาดเดาผลการลงคะแนนรอบที่ ๒ ว่าแทตเชอร์จะพ่ายแพ้ รัฐมนตรีส่วนใหญ่ของเธอก็ถอนตัวจากการสนับสนุน แทตเชอร์ซึ่งตระหนักว่าถูกหักหลังจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๐ ในถ้อยแถลงตอนหนึ่งเธอกล่าวว่า หลังจากหารือกับเพื่อนร่วมงานแล้ว เธอก็สรุปได้ว่าเอกภาพของพรรคและโอกาสที่พรรคจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปจะมีมากกว่าหากเธอก้าวลงจากตำแหน่งและรัฐมนตรีที่ร่วมงานกับเธอมาก็จะได้เสนอตัวแข่งขันกันเป็นหัวหน้าพรรค ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน แทตเชอร์ย้ายออกจากทำเนียบนายกรัฐมนตรี เลขที่ ๑๐ ถนนดาวนิง (10 Downing Street) และใน ค.ศ. ๑๙๙๑ เธอและสามีย้ายไปอยู่ที่บ้านที่เชสเตอร์สแควร์ (Chester Square) ซึ่งเป็นเขตพำนักอาศัยราคาแพงในย่านเบลกราเวีย (Belgravia) ใจกลางกรุงลอนดอน ส่วนพรรคอนุรักษนิยมได้รับชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ก่อนที่จะพ่ายแพ้เป็นเวลายาวนานให้แก่ พรรคแรงงานในช่วง ค.ศ. ๑๙๙๗–๒๐๑๐

 ในบรรดาผลงานที่มีผลยืนยาวของแทตเชอร์นั้นมีการออกกฎหมายเป็นชุดจำกัดอำนาจและบทบาทของสหภาพแรงงาน การขายบ้านกว่า ๑ ล้านยูนิตที่เทศบาลจัดสร้างขึ้นให้แก่ผู้เคยพำนักในบ้านเช่า การโอนอุตสาหกรรมของรัฐเกี่ยวกับก๊าซ ไฟฟ้า น้ำ และโทรคมนาคมให้เอกชนดำเนินการ ดังนั้นในสมัยของเธอบริษัทอย่างบริติชแอร์เวส์ (British Airways) และบริติชสตีล(BritishSteel)ที่ผลการดำเนินงานขาดทุนมาตลอดจึงเปลี่ยนเป็นเอกชนดำเนินการ และในเวลาต่อมา บริษัทต่าง ๆ ก็สามารถพ้นจากภาวะขาดทุนและทำกำไร

 ในด้านการต่างประเทศนั้นอังกฤษสมัยแทตเชอร์ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา แทตเชอร์มีความสัมพันธ์อันดีกับประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เธอจึงมีส่วนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเรแกนกับมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ผู้นำสหภาพโซเวียต เรแกนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเรียกสหภาพโซเวียตว่าจักรวรรดิแห่งความชั่วร้าย (Evil Empire) จึงเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสหภาพโซเวียตซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของ สงครามเย็น (Cold War)* ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ แทตเชอร์ยังเป็นประธานในการสถาปนาประเทศซิมบับเว [Zimbabwe อดีตคือโรดีเซีย (Rhodesia)] ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ หลังจากรัฐบาลชนผิวขาวประกาศการแยกเป็นอิสระโดยพลการจากการปกครองของอังกฤษถึง ๑๕ ปี แทตเชอร์ยืนยันในพันธะที่อังกฤษมีต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* และการมีนโยบายนิวเคลียร์ที่อิสระ ซึ่งเป็นที่พอใจของชาวอังกฤษ เธอสนับสนุนการให้ไอร์แลนด์เหนือคงอยู่กับอังกฤษต่อไปแม้จะเกิดการวางระเบิดคณะรัฐมนตรีที่ร่วมการประชุมใหญ่ของพรรคอนุรักษนิยมที่แกรนด์โฮเต็ล (GrandHotel) เมืองไบรตัน (Brighton) มณฑลซัสเซกซ์ (Sussex) ใน ค.ศ. ๑๙๘๔ โดยพวกชาวไอริชหัวรุนแรงจนเธอและสามี ตลอดจนรัฐมนตรีหลายคนเกือบจะถูกสังหาร ในเหตุการณ์ครั้งนี้มีสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมระดับสูงเสียชีวิต ๕ คน และบาดเจ็บ ๓๑ คน

 นอกจากนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงนึกถึงแนวทางการบริหารประเทศในช่วงที่เธอเป็นผู้นำรัฐบาลที่เรียกกันว่า ลัทธิแทตเชอร์ ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของเธอเอง เป็นแนวนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่หลอมรวมกับทัศนะส่วนบุคคลของเธอและไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีทางการเมืองหรือทฤษฎีเศรษฐกิจอันใดอันหนึ่ง โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจนั้นเธอรับแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยได้แก่ฟรีดริชโอกุสต์ฟอนฮาเยก(Friedrich August von Hayek) ชาวออสเตรียซึ่งสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิกแบบคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และมิลตันฟรีดแมน (MiltonFriedman) ชาวอเมริกันที่เขียนผลงานเรื่อง There’s No Such Thing as a Free Lunch (ค.ศ. ๑๙๗๕) ซึ่งมีอิทธิพลต่อแทตเชอร์ในนโยบายต่อต้านรัฐสวัสดิการ และวิจารณ์แนวคิดเศรษฐศาสตร์ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) โดยเฉพาะด้านการใช้เงินงบประมาณของรัฐสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้พลเมืองมีงานทำ กล่าวโดยรวมแล้ว ลัทธิแทตเชอร์ต้องการลดค่าใช้จ่ายของรัฐ และให้เอกชนหรือปัจเจกบุคคลรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรัฐเข้าไปมีบทบาทน้อยที่สุด เช่น การป้องกันประเทศ การรักษาค่าเงินปอนด์ ดังนั้น จึงนำไปสู่การให้ประชาชนไม่คอยหวังพึ่งนโยบายจัดหาสวัสดิการจากรัฐ และการเปลี่ยนถ่ายให้เอกชนรับวิสาหกิจของรัฐไปดำเนินการแทน เช่น บริษัทบริติชแก๊ส (British Gas) และบริษัทบริติชเทเลคอม (British Telecom) เพื่อให้วิสาหกิจนั้น ๆ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการเคยชินกับการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐทำให้พลังขับเคลื่อนน้อยลง แทตเชอร์ยังลดบทบาทของสหภาพแรงงานที่กดดันรัฐบาลชุดต่าง ๆ ก่อนสมัยเธอจนต้องลาออกไปถึง ๓ ชุดติดต่อกัน ขณะเดียวกันก็เน้นความรักและความภูมิใจในความเป็นอังกฤษที่เป็นอิสระจากการบงการของประชาคมยุโรป แทตเชอร์ดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของเธออย่างมุ่งมั่นเพื่อให้ได้ผลตามที่ตั้งไว้ซึ่งเธอถือว่าเป็นการแสดงความแน่วแน่ในขณะที่คนอื่น ๆ เห็นว่าเป็นความดื้อรั้น ไม่ฟังเสียงทักท้วงของผู้ใด การดำเนินนโยบายเช่นนี้เป็นการเปลี่ยนแนวทางของรัฐบาลชุดก่อน ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่ว่ารัฐบาลพรรคแรงงานหรือพรรคอนุรักษนิยม

 แทตเชอร์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลเมริต (Order of Merit) ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ และอีก ๒ ปี ต่อมา เมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาสามัญหลังจากอยู่มายาวนานถึง ๓๕ ปี ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นบารอนเนสแทตเชอร์แห่งเคสตีเวนในมณฑลลิงคอล์นเชียร์ (Lincolnshire) ซึ่งทำให้เธอได้ที่นั่งในสภาขุนนาง (House of Lords) ตลอดชีพ แทตเชอร์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ก่อตั้งมูลนิธิเมื่อพ้นจากตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ได้เขียนเล่าประสบการณ์ในฐานะผู้นำในเวทีระหว่างประเทศ และการเป็นสตรีที่เป็นแนวหน้าในการเข้าสู่วงการเมืองในผลงาน ๒ เล่ม ได้แก่ The Downing Street Years (ค.ศ. ๑๙๙๓) และ The Path to Power (ค.ศ. ๑๙๙๕) และใน ค.ศ. ๒๐๐๒ แทตเชอร์ออกหนังสืออีกเล่ม คือ Statecraft: Strategies for a Changing World ซึ่งเธออุทิศให้แก่อดีตประธานาธิบดีเรแกน ในหนังสือเล่มนี้ แทตเชอร์กล่าวว่าสันติภาพในตะวันออกกลางจะไม่บังเกิดขึ้นจนกว่าซัดดาม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ผู้นำอิรักจะถูกโค่นล้ม และว่าอิสราเอลควรจะยอมเสียพื้นที่เพื่อแลกกับสันติสุข ทั้งยังกล่าวถึงสหภาพยุโรป (European Union)* ด้วยว่าเป็นโครงการเพ้อฝันซึ่งจะต้องเผชิญกับความล้มเหลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แทตเชอร์เสนอให้อังกฤษเจรจาเงื่อนไขการเป็นสมาชิกเสียใหม่ หรือไม่ก็ลาออกจากสหภาพยุโรปและไปเข้าร่วมกับกลุ่มความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟตา (North American Free Trade Agreement–NAFTA) ที่ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๔ อันประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกแทน

 ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ เธอเผชิญภาวะเส้นโลหิตฝอยในสมองแตกหลายครั้ง จนแพทย์แนะนำให้เธอถอยห่างจากการกล่าวปราศรัยในที่สาธารณะ และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๓ เธอต้องพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของเดนิส สามีซึ่งแทตเชอร์กล่าวใน The Downing Street Years ว่าการทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นงานที่ว้าเหว่ แต่เธอมีเดนิสผู้เป็นทั้งสามีและเพื่อนที่อยู่เคียงข้างเธอเสมอมาตลอดกว่า ๕๐ ปี ในปีต่อมาเธอก็กล่าวคำไว้อาลัยต่ออสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรเพื่อนเก่า และเดินทางไปร่วมในพิธีศพที่สหรัฐอเมริกา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ แทตเชอร์ฉลองวันเกิดอายุครบ ๘๐ ปีที่โรงแรมแมนดารินโอเรียนตัล (Mandarin Oriental Hotel) ในไฮด์พาร์ก (Hyde Park) ซึ่งเป็นงานใหญ่ ผู้เข้าร่วมงานมีตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II ค.ศ. ๑๙๕๓– )* ดุ๊กแห่งเอดินบะระ (Duke of Edinburgh) พระราชสวามี เจ้าหญิงอะเล็กซานดรา (Alexandra) และโทนี แบลร์ (Tony Blair)* นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคแรงงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๗ เธอรับเชิญไปเปิดผ้าคลุมรูปปั้นตัวเธอเองที่รัฐสภาสั่งทำและให้ติดตั้งในสภาสามัญนับว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศที่ได้รับเกียรติปั้นรูปและติดตั้งรูปปั้นของเธอในขณะที่เธอยังมีชีวิตอยู่ รูปปั้นสัมฤทธิ์ในท่าที่เธอกำลังยืนกล่าวในสภาและแขนขวาเหยียดออกนั้นได้รับการติดตั้งตรงกันข้ามกับรูปปั้นของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นวีรบุรุษทางการเมืองของเธอด้วย ในพิธีเปิดผ้าคลุมรูปปั้นนั้น แทตเชอร์ซึ่งได้รับฉายาว่าสตรีเหล็กกล่าวว่า “แม้จะอยากให้รูปปั้นทำด้วยเหล็กมากกว่า แต่เป็นสัมฤทธิ์ก็ดี เพราะจะไม่ขึ้นสนิม”

 มาร์กาเร็ต ฮิลดา แทตเชอร์ บารอนเนสแทตเชอร์แห่งเคสตีเวนถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๓ ขณะอายุ ๘๗ ปี ที่โรงแรมริทซ์ (Ritz) กลางกรุงลอนดอนเนื่องจากเธอมีอาการของโรคสมองเสื่อมตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๕ ทำให้ใน ค.ศ. ๒๐๑๒ เธอได้ย้ายไปพำนักในห้องชุดที่โรงแรมริทซ์ เพื่อลดความลำบากในการขึ้นลงบันไดบ้านพักที่เชสเตอร์สแควร์ แทตเชอร์อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี๑๑ปี๒๐๐วัน ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ นิตยสาร Time ยกย่องว่าเธอเป็น ๑ ใน ๑๐๐ บุคคลสำคัญของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และใน ค.ศ. ๒๐๐๒ บรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (British Broadcasting Corporation–BBC)* ได้สำรวจคะแนนนิยมของชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงที่สุด ๑๐๐ คน และเธอได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ ๑๖ ใน ค.ศ. ๒๐๑๑ มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Iron Lady ที่กล่าวถึงชีวประวัติของเธอโดยเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๘ ซึ่งเป็นช่วงที่เธอมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ จากภาวะสมองเสื่อม เมอรีล สตรีป (Meryl Streep) ผู้แสดงเป็นแทตเชอร์ได้รับรางวัลออสการ์ประเภทนักแสดงหญิงดีเด่นจากภาพยนตร์เรื่องนี้

 อสัญกรรมของแทตเชอร์ก่อปฏิกิริยาทั้งเศร้าโศกเสียดายและโห่ร้องดีใจ มีทั้งการยกย่องสรรเสริญและการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น การชื่นชมว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่บริหารประเทศในยามบ้านเมืองปลอดสงคราม แต่ก็มีกลุ่มชุมนุมฉลองการจากไปของเธออย่างยินดีปรีดาที่จตุรัสทราฟัลการ์และย่านบริกซ์ตัน (Brixton) ในกรุงลอนดอน และตามเมืองในภูมิภาค เช่น ลีดส์ (Leeds) บริสตอล (Bristol) กลาสโกว์ (Glasgow) พิธีศพของเธอจัดขึ้นที่มหาวิหารเซนต์พอล (St. Paul’s Cathedral) ในวันที่ ๑๗ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๓ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ และพระราชสวามีเสด็จเข้าร่วมพิธีด้วยซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ที่เสด็จร่วมพิธีศพของอดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากเคยเสด็จร่วมงานประกอบพิธีศพของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ ต่อมา มีการฌาปนกิจศพของเธอที่สุสานมอร์ตเลก (Mortlake Crematorium) ในวันที่ ๒๘ กันยายน และหลังทำพิธีในโบสถ์ออลเซนตส์ (All Saints Chapel) ของโรงพยาบาลรอยัลฮอสปิตัลเชลซี (Royal Hospital Chelsea)ซึ่งเป็นโรงพยาบาลและที่พักสำหรับผู้สูงอายุเถ้าอัฐิของบารอนเนสแทตเชอร์ได้รับการฝังใต้พื้นโรงพยาบาลถัดจากเถ้าอัฐิของสามีเธอ.



คำตั้ง
Thatcher of Kesteven, Margaret Hilda Thatcher, Baroness
คำเทียบ
มาร์กาเร็ต ฮิลดาแทตเชอร์ บารอนเนส แทตเชอร์แห่งเคสตีเวน
คำสำคัญ
- กรณีเวสต์แลนด์
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล
- การจลาจลภาษีรายหัว
- คัลลาแฮน, เจมส์
- จัตุรัสทราฟัลการ์
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- บรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- แบลร์, โทนี
- ประชาคมยุโรป
- พรรคแรงงาน
- พรรคอนุรักษนิยม
- เมเจอร์, จอห์น
- แมกมิลแลน, แฮโรลด์
- ระบบการเงินยุโรป
- รัฐสวัสดิการ
- ฤดูหนาวที่คับแค้นใจ
- ลัทธิแทตเชอร์
- วัฒนธรรมวิกตอเรีย
- เวลส์
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์
- สตรีเหล็ก
- สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพยุโรป
- สหภาพแรงงาน
- ฮีท, เอดเวิร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1925–2013
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๘–๒๕๕๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-